Breaking News
Home / ข่าวการศึกษา / การใช้เงิน ช.พ.ค.มารีไฟแนนซ์ครู – สรุปความ

การใช้เงิน ช.พ.ค.มารีไฟแนนซ์ครู – สรุปความ

จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ รับทราบโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเห็นชอบกรอบการดำเนินงานระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) ของ สสค.
เฉพาะกรณี การใช้เงิน ช.พ.ค.มารีไฟแนนซ์ครู 

1. วงเงินกู้ที่ใช้เงิน ช.พ.ค. ค้ำประกัน

(1) ธนาคารออมสินตั้งวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับผู้กู้รายเดิม จำนวนไม่เกินสิทธิที่ทายาทจะได้รับเงินเมื่อผู้กู้เสียชีวิต โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา และทายาทยินยอมให้นำเงิน ช.พ.ค.มาค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารออมสิน
(2) ผู้กู้ต้องเป็นสมาชิก ช.พ.ค. อายุ 50 ปีขึ้นไป ระยะเวลาการกู้ 20 ปี ยกเว้นกรณีที่อายุผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาการกู้แล้วอายุผู้กู้เกิน 75 ปี ธนาคารออมสินจะลดระยะเวลาการกู้ลงให้รวมแล้วอายุผู้กู้ไม่เกิน 75 ปี
(3) วงเงินสินเชื่อตามข้อ (1) จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 นำไปชำระหนี้เงินกู้บัญชีเดิม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.85-6.70 ต่อปี
ส่วนที่ 2 กันไว้เพื่อชำระดอกเบี้ยและเงินค่ารายศพ ช.พ.ค.รายเดือนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อรักษาสถานภาพสมาชิก (เฉลี่ยเดือนละประมาณ 600 บาท) และทยอยเบิกจ่ายรายเดือนจนครบอายุสัญญา
(4) บัญชีเงินกู้เดิมซึ่งได้นำเงินจากข้อ (1) มาลดเงินต้น ธนาคารออมสินจะปรับลดเงินงวดตามจำนวนเงินกู้และระยะเวลาการกู้ที่เหลืออยู่ตามสัญญาเดิม โดยยังคงมีผู้ค้ำประกันและประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) รองรับความเสี่ยง
(5) เมื่อผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะนำเงิน ช.พ.ค. หรือเงินประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) มาชำระหนี้ปิดบัญชี
(6) หากครบระยะเวลาการกู้แต่ผู้กู้ยังไม่เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะให้ผู้กู้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยและจ่ายเงินค่ารายศพ ช.พ.ค. รายเดือนจากเงินบำนาญที่ได้รับ หรือผู้กู้สามารถขอให้ธนาคารออมสินตั้งวงเงินกู้เพิ่มจนกว่าจะเสียชีวิต

2. วงเงินกู้ที่ใช้เงินบำเหน็จตกทอดค้ำประกัน

(1) ธนาคารออมสินตั้งวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับผู้กู้รายเดิมจำนวนไม่เกินสิทธิที่ทายาทจะได้รับเมื่อผู้กู้เสียชีวิต โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา และทายาทยินยอมให้นำเงินบำเหน็จตกทอดมาค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารออมสิน
(2) ผู้กู้ต้องมีสิทธิรับเงินบำนาญ ระยะเวลาการกู้ 20 ปี ยกเว้นกรณีที่อายุผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาการกู้แล้วอายุผู้กู้เกิน 75 ปี ธนาคารออมสินจะลดระยะเวลาการกู้ลงให้รวมแล้วอายุผู้กู้ไม่เกิน 75 ปี
(3) วงเงินสินเชื่อตามข้อ (1) จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 นำไปชำระหนี้เงินกู้บัญชีเดิม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.85-6.70 ต่อปี
ส่วนที่ 2 กันไว้เพื่อชำระดอกเบี้ยและทยอยเบิกจ่ายรายเดือนจนครบอายุสัญญา
(4) บัญชีเงินกู้เดิมซึ่งได้นำเงินจากข้อ (1) มาลดเงินต้น ธนาคารออมสินจะปรับลดเงินงวดตามจำนวนเงินกู้และระยะเวลาการกู้ที่เหลืออยู่ตามสัญญาเดิม โดยยังคงมีผู้ค้ำประกันและประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) รองรับความเสี่ยง
(5) เมื่อผู้กู้เกษียณอายุราชการและมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพจำนวน 15 เท่าของเงินบำนาญ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ผู้กู้สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในการดำรงชีพ หรือยินยอมนำเงินบำเหน็จดำรงชีพบางส่วนตั้งแต่ร้อยละ 60 ขึ้นไป มาชำระหนี้ได้ตามความสมัครใจ
(6) เมื่อผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะนำเงินบำเหน็จตกทอดหรือเงินประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) มาชำระหนี้ปิดบัญชี
(7) หากครบระยะเวลาการกู้แต่ผู้กู้ยังไม่เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะให้ผู้กู้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย โดยหักจากเงินบำนาญที่ได้รับ หรือผู้กู้สามารถขอให้ธนาคารออมสินตั้งวงเงินกู้เพิ่มจนกว่าจะเสียชีวิต

อ่านรายละเอียดทั้งหมด https://www.thaisch.com/2016/02/11/321
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก มติชนออนไลน์
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบโครงการลดภาระหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยธนาคารออมสินจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ให้ผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้เงินกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งทายาทจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม เป็นเงินบำเหน็จตกทอด นำมาขอสินเชื่อใหม่ หรือรีไฟแนนซ์ เพื่อลดภาระหนี้ หรือปิดบัญชีที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 4% ว่าเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เบื้องต้นธนาคารออมสินได้กำหนดไว้ว่าครูต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ระยะเวลากู้ 20 ปี ทั้งนี้ อายุผู้กู้ และอายุสัญญากู้ จะต้องมีอายุรวมไม่เกิน 75 ปี เช่น ถ้าอายุ 65 ปี จะเหลือระยะเวลากู้ 10 ปี เป็นต้น ที่สำคัญทายาทต้องเซ็นยินยอมให้ธนาคารออมสินรับเงินค่าสงเคราะห์รายศพ ช.พ.ค.ก่อน ครูถึงจะเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยโครงการนี้ครูที่ถูกธนาคารออมสินยื่นโนติสไปแล้ว ประสานขอเข้าร่วมโครงการได้เช่นกัน

“หลักการของการใช้เงิน ช.พ.ค.มารีไฟแนนซ์นั้น คิดจากฐานปัจจุบันที่ทายาทจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม อยู่ที่ประมาณ 950,000 บาท มาตั้งเป็นวงเงินรีไฟแนนซ์สำหรับครู โดยสูงสุดรายละไม่เกิน 700,000 บาท แบ่งเป็น 2 ส่วน อาทิ สมาชิกเป็นหนี้ธนาคารออมสิน 350,000 บาท เมื่อเข้าร่วมโครงการธนาคารจะหักเงินต้นส่วนแรกทันที 350,000 บาท และส่วนที่จะคิดเป็นดอกเบี้ย 4% ต่อปี ตลอดอายุการกู้ 20 ปี รวมกับเงินค่าสมาชิก ช.พ.ค.ระยะ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันครูต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก ช.พ.ค.เดือนละประมาณ 600 บาท จะต้องถูกหักไปทันที ดังนั้น เมื่อครูเข้าร่วมโครงการนี้ จะถือเป็นการหักเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารออมสินไปแล้ว ถ้าครูมีหนี้เงินต้นลดน้อยลง จะทำให้การผ่อนชำระหนี้ส่วนที่เหลือลดลงไปด้วย แต่หนี้ส่วนที่เหลือยังคงต้องผ่อนชำระในอัตรา 6.5-6.7% ต่อปีเท่ากับปัจจุบัน สำหรับทายาทนั้น หากครูเข้าร่วมโครงการก็ยังคงได้รับเงินค่าจัดการศพจาก ช.พ.ค. 200,000 บาท และหากยังมีเงินส่วนต่างเหลือจากที่ใช้หนี้ธนาคารอีก ก็จะคืนให้แก่ทายาท” นายพินิจศักดิ์กล่าว

About koung