ASTVผู้จัดการออนไลน์ – องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนพระราชสาสน์ของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรพม่าพระองค์หนึ่ง เป็นมรดกโลกเมื่อไม่กี่วันมานี้ เป็นพระราชสาส์นข้อความภาษาพม่าโบราณ สลักลงบนแผ่นทองคำแท้ 99.99% อายุเกือบ 260 ปี และความหมายอย่างใหญ่หลวงในทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียกับ ยุโรป พระราชสาส์นทองคำที่พระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โคนบอน (Kon Baung) หรือ “ราชวงศ์อลองพญา” ทรงมีถึงพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งราชอาณาจักรเกรตบริเทน เมื่อเดือน พ.ค.2299 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในฐานะเอกสารสำคัญของโลก โดยการเสนอร่วมกันสามฝ่าย คือ รัฐบาลเยอรมนี อังกฤษ และพม่าซึ่งเกี่ยวพันโดยตรง หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์รายงาน ทั้งสามฝ่ายได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่พม่าเองได้เสนอศิลาจารึกอีกชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “จารึกเมียเจดีย์” (Myazedi) ไปพร้อมกัน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในประเภทเดียวกัน ในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกวันที่ 4-6 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เว็บไซต์คณะกรรมการมรดกโลก ระบุว่า ปีนี้มีการเสนอสิ่งสำคัญประเภทต่างๆ จากทั่วโลก เข้าจดทะเบียน จำนวน 88 กรณี และได้ขึ้นทะเบียนรวม 47 กรณี รวมทั้งพระราชสาสน์ทองคำ กับจารึกเมียเจดีย์ด้วย ศิลาจารึกดังกล่าวไปจากวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตกรุงเก่าพุกาม คาดว่าจะจัดทำขึ้นในปี พ.ศ.1656 เป็นเสาหิน 4 ด้าน จารึกแต่ละด้านเป็น 1 ภาษา คือ ภาษาพะยู ภาษาพม่า ภาษามอญ กับภาษบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่าเป็นจารึกเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์พม่าที่ค้นพบในขณะนี้่ หนังสือพิมพ์กึ่งทางการระบุ . . ส่วนพระราชสาส์นทองคำ ทำขึ้นจากแผ่นทองคำแท้เกือบ 100% ยาว 55 ซม. หนา 12 ซม. ประดับด้วยทับทิมล้ำค่าอีก 24 เม็ด พับม้วนบรรจุลงในภาชนะทรงกระบอกมีฝาปิด ที่ทำจากงาช้าง ใช้เวลาเดินทางถึง 2 ปี กว่าจะถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็จนกระทั่งเดือน มี.ค.2301 แต่กษัตริย์แห่งเกรตบริเทน ไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆ และโปรดเกล้าฯ ส่งต่อไปยังเมืองฮาโนเวอร์ ในแค้วนแซ็กโซนี เยอรมนี ซึ่งเป็นถิ่นพระราชสมภพ ตั้งแต่นั้น ก็ไม่มีกษัตริย์ หรือพระราชินีแห่งเกรตบิเทนพระองค์ใด ในรัชสมัยต่อๆ มา ที่ทรงสนพระทัยพระราชสาส์นของพระเจ้าอลองพญา นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่เชี่ยวชาญด้านพม่าคนหนึ่งได้ศึกษา เรื่องนี้เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว และลงความเห็นว่า พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงมีพระราชวินิจฉัยพระราชสาส์นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับนี้ “ไม่มีค่าพอที่จะตอบกลับ” แต่ก็ไม่ได้อธิบายอะไรอีก พระราชสาส์นถูกย้ายจากพิพิธภัณฑ์หลวงในฮาโนเวอร์ ไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ของหอสมุดก็อดฟรีด วิลเฮม ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz) ในเมืองเดียวกัน มาเป็นเวลากว่า 50 ปีตั้งแต่ก่อตั้ง แต่ช่วงเวลา 250 ปี ไม่ได้มีผู้ใดให้ความสำคัญ เนื่องจากไม่มีใครอ่านภาษาพม่าโบราณออก นอกจากนั้น เมื่อครั้งกษัตริย์คริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ ทอดพระเนตรในปี พ.ศ.2311 ทรงทำพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงอังวะชำรุด ทำให้อ่านยากยิ่งขึ้น นักประวัติศาสตร์ในอังกฤษกล่าว |
||||
|
||||
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส เยอรมนี และชาวอังกฤษใช้เวลาหลายปีช่วยกันฟื้นฟูพระราชสาสน์ขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2550 และ ถอดความออกมาเป็นภาษาอังกฤษ จนกระทั่งทำได้เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2553 ภัณฑารักษ์ที่หอสมุดก็อดฟรีด วิลเฮม ไลบ์นิซ กล่าวว่า ตั้งแต่นั้นมาข่าวพระราชสาส์นทองคำก็แพร่กระจายออกไป และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมา บางวันมีผู้เข้าชมกว่า 15,000 คน ทำให้ต้องค้นคิดหาวิธีการนำเสนอ แทนการนำฉบับจริงออกตั้งแสดง กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีได้ให้การสนุบสนุนเงินทุนให้พิพิธภัณฑ์ฯ จัดทำพระราชสาส์นทองคำฉบับดิจิตอลสามมิติขึ้นมาเมื่อปี 2556 และทำออกมาเป็นหลายภาษา เก็บไว้ในเยอรมนี 1 ฉบับ อังกฤษ 1 ฉบับ และส่งไปยังพม่าเพื่อตั้งแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเนปีดอ อีก 1 ฉบับ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่ศึกษาเรื่องนี้เมื่อปี 2552 ได้พบคำตอบว่า พระราชสาส์นของพระเจ้าอลองพญา นำไปยังกรุงลอนดอนโดยบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ เนื้อหาเป็นการเสนอเปิดสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการ และทรงเสนอให้บริษัทของอังกฤษ ใช้ท่าเรือที่สร้างขึ้นที่เมืองพะสิม (เมืองปะเต็ง/Pathein ในปัจจุบัน) ริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี พระองค์ยังมีพระราชดำริพระราชทานที่ดินจำนวนหนึ่งสำหรับให้บริษัทนี้ ตั้งสถานีการค้าขึ้นในพม่า ขึ้นที่นั่นอีกด้วย นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า พระเจ้าอลองพญาทรงเสนอเปิดการค้าขายกับอีสต์อินเดีย ด้วยหวังจะได้ปืนใหญ่กับกระสุนจากฝ่ายอังกฤษ เพื่อเตรียมการต่อสู้กับนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส ที่กำลังคืบคลานเข้าสู่ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดินแดนพม่าในเวลานั้น |
||||
แต่ นายฌาก ไลเดอร์ (Jacques Leider) นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ศึกษาฉบับจริงในพิพิธภัณฑ์ฮาโนเวอร์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทม์ส เมื่อปี 2554 ว่า พระราชสาส์นมีเนิ้่อหาเกี่ยวกับการทูต และการสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งในขณะนั้นอาณาจักรอังวะที่อยู่ทางตอนเหนือ กำลังเผชิญต่อการคุกคามทั้งจากจีน และจากอาณาจักรมอญทางทิศใต้ ที่พยายามฟื้นคืนกลับมาอีก พระเจ้าอลองพญา ทรงเห็นว่าอาวุธประสิทธิภาพสูง เช่น ปืนใหญ่อังกฤษ อาจจำเป็นในการครอบครองดินแดนทางตอนใต้ เป็นสิ่งที่ “ล้ำคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ … มีความไพเราะเพราะพริ้งอย่างแท้จริง และ (มีความ) สำคัญทางการเมือง” ดร.ไลเดอร์ กล่าว นักวิชาการผู้นี้ให้รายละเอียดอีกว่า พระราชสาส์นส่งผ่านเมืองมัทราส (Madras หรือเมือง เจนไน/Chennai ปัจจุบัน) แต่กว่าจะไปถึงกรุงลอนดอน ก็ในปี พ.ศ.2301 ใช้เวลาเดินทาง 2 ปี นอกจากเมื่อไปถึงเมืองมัทราส ได้มีการจ่าหน้าซองใหม่ผิดเพี้ยนกลายเป็น “จดหมายจากเจ้าชายอินเดียคนหนึ่ง” ทรงถึงพระเจ้าจอร์จที่ 2 จึงทำให้ไม่ได้รับความสนใจ และถูกส่งต่อไปยังฮาโนเวอร์ในทันที หลังจากทรงมีพระราชสาส์นทองคำถึงพระเจ้าจอร์จที่ 2 ในอีก 3 ปีถัดมา พระเจ้าอลองพญา กับเจ้าชายมังระ พระราชบุตร ได้ทรงนำทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผู้ที่ศึกษาพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาบางคนตีความหมายว่า พระเจ้าอลองพญา มีพระราชสาสน์ถึงกษัตริย์อังกฤษ ที่กำลังคืบคลานเข้าสู่ชมพูทวีปในช่วงนั้น ก็เพื่อประกาศให้ฝ่ายนั้นทราบว่า ดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นอยู่ใต้อาณัติของอาณาจักรพม่า แต่ในรายละเอียดที่นักวิชาการชาวฝรั่งเศสตีพิมพ์เผยแพร่ ไม่ได้มีเนื่้อหาส่วนใดในพระราชสาส์นกล่าวถึงเรื่องนี้ พระเจ้าอลองพญา ทรงตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จในรัชสมัยของพระองค์ และสิ้นพระชนม์ในเดือน เม.ย. พ.ศ.2303 แต่พระราชบุตร คือ พระเจ้ามังระ (ชิ่นพะยูซิน/Sin Byu Shin) ที่ทรงขึ้นครองราชย์สืบมา ทรงเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกหลายครั้งจึงสำเร็จ และทรงเผาอาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนวายวอด ในปี พ.ศ.2310 ชาวไทยรู้จักเหตุการณ์นี้ดี ในชื่อ “การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2”. |
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์